pattanakorn01

4 out of 5 dentists recommend this WordPress.com site


ใส่ความเห็น

อริยสัจ ๔

“ทุกข์” คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์

คำว่า “ทุกข์” นี้ ตามความหมายทั่วไป ก็หมายถึงความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดความโศกเสร้า เสียใจ แต่คำว่าทุกข์ใน อริยสัจข้อที่ ๑ นี้ เป็นความทุกข์ที่แฝงทัศนะทางพุทศาสนาเกี่ยวกับชีวิตและโลกเอาไว้ ย่อมมีความหมายทางปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า คำว่า ทุกข์ ในอริยสัจ ข้อที่ ๑ นั้น รวมถึงความหมายของทุกข์ตามปรกติธรรมดา เช่น ทุกข์ทรมาน ความเจ็บ ปวด เข้าไว้ด้วย และรวมถึงความคิดที่ลึกซึ้งเข้าไปด้วยกันด้วย เช่น ความไม่แน่นอน ความว่างเปล่า ความไม่สมหวัง ความไม่มีแก่นสาร เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสทุกข์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตร ตอนที่ว่าด้วยอริยสัจได้แบ่งทุกข์ออกเป็น ๒ ประการคือ

๑. สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นทุกข์

๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร ได้แก่ ความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำไห้ รำพัน ความผิดหวัง เป็นทุกข์
อริยสัจข้อที่ ๒ : สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุเกิดทุกข์ อันเกิดจากตัณหาคือ ความอยากที่มีอยู่ในจิตใจของแต่ละคนทำให้คนเกิดทุกข์ในขณะที่ลิทธิต่าง ๆสอนว่า ความทุกข์นั้นเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ บันดาลให้มนุษย์เป็นไปต่าง ๆ กัน แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่ตัณหา คือความอยากเท่านั้นว่าทำให้คนเกิดทุกข์

ตัณหา ๓ ได้แก่

ก. กามตัณหา อยากได้กามคุณ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จัดเป็นกามตัณหา

ข. ภวตัณหา อยากได้ในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ค. วิภวตัณหา อยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น เช่น อยากหนีภาวะที่คับแค้น

อริยสัจข้อที่ ๓ : นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การสละ การสลัดออก การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน

อริยสัจข้อที่ ๔ : มรรค
มรรค แปลว่า หนทาง หมายถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มรรคนี้เป็นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เพราะมีทางปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปคือ

๑.ประเภทที่หย่อนเกินไป ร่างกายและจิตใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกามารมณ์ เรียนว่า กามสุขัลลิกานุโยค

๒. ประเภทที่ตึงเกินไป มีการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก ทุกข์ทรมานอย่างหนักเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

การบำเพ็ญทั้งสองวิธีนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองมาแล้วตอนบำเพ็ญทุกรกิริยาก่อนตรัสรู้ เมี่อทดลองจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่พ้นทุกข์จึงได้ค้นพบวิธีปฏิบัติใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป เป็นการปฏิบัติอยู่ในสายกลาง ทางสายกลางนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑. ความเห็นชอบ

๒. ความดำริชอบ

๓. การเจรจาชอบ

๔. การงานชอบ

๕. เลี้ยงชีพชอบ

๖. พยายามชอบ

๗. ระลึกชอบ

๘. ตั้งใจชอบ

อริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้ ถือว่าเป็นหลักคำสอนที่คลุมธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะทางสายกลางทั้งหมดนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงสายกลางนี้ตลอดมาเป็นระยะเวลานาน แก่บุคคลหลายประเภทที่แตกต่างกัน ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถของแต่ลบุคคลที่จะเข้าใจและปฏิบัติตามพระองค์ได้การปฏิบัติตามมรรค ๘ ประการ หรือทางสายกลางนี้ต้องทำให้เกี่ยวเนื่องกันครบทุกข้อ แต่ละข้อเป็นทางปฏิบัติที่ สัมพันธ์กัน มรรคทั้ง ๘ ประการนี้ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การอบรมฝึกฝนตนตามหลักสูตรของพระพุทธศาสนาซึ่งมีสาระอยู่ ๓ ประการ คือ

ก. การประพฤติตามหลักจรรยา (ศีล)

ข. การฝึกฝนอบรมทางใจ (สมาธิ)

ค. การให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง (ปัญญา)

หลักการรู้อริยสัจ ๔
การรู้อริยสัจนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการรู้ที่แน่นอนตายตัว การรู้อริยสัจที่ถือว่าจบเกณฑ์นั้น จะต้องรู้ ๓ รอบ รู้ในญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เรียกว่า ปริวัติ ครั้งละ ๔ รวมเป็น ๑๒ ครั้งดังนี้

รอบที่ ๑ สัจจญาณ คือรู้ว่า

๑. ทุกข์มีจริง ชีวิตคลุกเคล้าด้วยควมทุกข์จริง

๒. สมุทัย เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง

๓. นิโรธ ความดับทุกข์มีจริง

๔. มรรค เป็นทางไปสู้ความดับทุกข์จริง

รอบที่ ๒ กิจจญาณ คือรู้ว่า

๑. ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้

๒. สมุทัย เป็นสิ่งที่ควรละ

๓. นิโรธ ความดับทุกข์ควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ

๔. มรรค ควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้น

รอบที่ ๓ กตญาณ คือรู้ว่า

๑. ทุกข์ เราได้กำหนดรู้แล้ว

๒. สมุทัย เราได้ละแล้ว

๓. นิโรธ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว

๔. มรรค เราได้บำเพ็ญให้เกิดมีครบถ้วนแล้ว

ข้อมูลจาก

http://www.baanjomyut.com/pratripidok/04.html

http://www.kmutt.ac.th/stcouncil/BuddhistPhilosophy/bud15.htm